โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ด้วยพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะให้มีแหล่งอาหารเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์
และประเทศไทยจะได้เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพ และปลอดภัยสู่ครัวโลก จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านยางน้อยตามพระราชดำริขึ้น
เพื่อให้เป็นแหล่งจ้างงาน แหล่งความรู้ทางด้านวิชาการ แหล่งผลิตอาหารปลอดภัยสารพิษ
ให้แก่เกษตรกรในโครงการฯ
และพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้และวิทยาการต่าง ๆ
ทางด้านวิชาการเกษตรอย่างถูกต้อง โดยโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ตั้งอยู่ที่บ้านยางน้อย
หมู่ที่ 1,2 กิโลเมตรที่ 32 ถนนแจ้งสนิท ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
กิจกรรมที่ดำเนินงานโดยกรมการข้าว
หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี
เริ่มตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2547 ถึงปี 2554 มีกิจกรรมที่ดำเนินการ
2 กิจกรรม ได้แก่
กิจกรรมที่
1 การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ใช้ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ
105 ปักดำแบบชาวบ้านระยะปักดำ ประมาณ 25 x 25 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืชและดูแลรักษาแปลง
ทำการตรวจตัดข้าวปน จำนวน 3 ครั้ง เก็บเกี่ยว นวด ทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์
และสุ่มเก็บตัวอย่างในแต่ละแปลงย่อย เพื่อวิเคราะห์มาตรฐานเมล็ดพันธุ์
กิจกรรมที่ 2
งานขยายผลสู่เกษตรกรรอบศูนย์ฯ โดยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ
105 ให้เกษตรกรหมู่บ้านรอบนอกโครงการ จำนวน 8 ราย รายละ 30 กิโลกรัม ในพื้นที่ 5
ไร่ รวมทั้ 40 ไร่ โดยเกษตรกรปฏิบัติดูแลรักษาด้วยตนเอง
ภายใต้คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ หลังจากเก็บเกี่ยวสุ่ม
ทำการเก็บตัวอย่างในแต่ละแปลงย่อยเพื่อวิเคราะห์มาตรฐานเมล็ดพันธุ์
วัตถุประสงค์ของกิจกรรม เพื่อฝึกอบรมเกษตรกรให้รู้ขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง
และสามารถจำหน่ายให้เกษตรกรในหมู่บ้าน
ซึ่งจะมีส่วนทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มและคุณภาพผลผลิตสูงขึ้น
รวมทั้งให้เกษตรกรเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ถูกต้องและเหมาะสม
เป้าหมายของกิจกรรม ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ
105 ตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์หลัก จำนวน 1,000 กิโลกรัม
เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้ทำพันธุ์
ผลการดำเนินงาน จากการประเมินผลผลิตในช่วงที่ผ่านมาพบว่า
พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ผ่านมาตรฐานเมล็ดพันธุ์หลัก
ร้อยละ 53.1 และเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่าย ร้อยละ 46.9 เกษตรกรที่เข้าร่วมดำเนินการได้รับเทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มผลผลิตข้าวและการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้อง
มีความเข้าใจในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูข้าวที่ถูกต้องและเหมาะสม ตลอดจนการตรวจตัดข้าวปน
วิธีการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีและมีคุณภาพไว้ใช้เอง
สามารถจำหน่าย แจกจ่ายหรือแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์
รวมทั้งการขยายผลและนำเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ถูกต้องไปสู่เกษตรกรในพื้นที่และกระจายสู่หมู่บ้านรอบนอก